นาฬิกาชีวิตเป็นศาสตร์การดูแลสุขภาพฉบับจีนโบราณอีกรูปแบบหนึ่ง ว่าด้วย นาฬิกาชีวิต กลไกการเคลื่อนไหว การตื่น การหลับของอวัยวะรวมถึงเส้นลมปราณที่สัมพันธ์กับช่วงเวลา หากเราใช้ชีวิตและปรับพฤติกรรมของเราตามการทำงานของอวัยวะโดยไม่ฝืนธรรมชาติ ก็จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นได้ ดังนี้
05.00-07.00 น. เป็นเวลาของลำไส้ใหญ่ เวลานี้ควรตื่นนอนและขับถ่ายอุจจาระ เพราะเป็นช่วงที่ลำไส้ใหญ่กำลังบีบตัว
07.00-09.00 น. เป็นเวลาของกระเพาะอาหาร เวลานี้ควรกินอาหารเช้าเพื่อให้กระเพาะทำงาน
09.00-11.00 น. เป็นเวลาของม้าม เวลานี้ควรทำงานไม่ควรกินหรือนอนช่วงนี้เพราะม้ามสร้างภูมิคุ้มกันเก็บพลังสำรองไว้ใช้ระหว่างวัน
11.00-13.00 น. เป็นเวลาของหัวใจ ควรจะเลี่ยงความเครียดด้วยการงีบหลับสักครู่
13.00-15.00 น. เป็นเวลาของลำไส้เล็ก ควรงดกินข้าว เพราะลำไส้เล็กย่อยอาหารดูดซึมเข้าร่างกายอยู่
15.00-17.00 น. เป็นเวลาของกระเพาะปัสสาวะ ควรออกกำลังกายใช้แรงงาน
17.00-19.00 น. เป็นเวลาของไต กรองของเสียออกจากเลือด เวลานี้ควรดื่มน้ำมากๆ ไม่ออกกำลังกายหนัก
19.00-21.00 น. เป็นเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ ควรพักผ่อน คลายเครียด เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ
21.00-23.00 น. เป็นเวลาของเส้นลมปราณ แจกจ่ายพลังงานให้อวัยวะภายในร่างกาย ควรพักผ่อน ไม่ทำงานหนัก
23.00-05.00 น. เป็นเวลาของถุงน้ำดี ตับ ปอด ควรดื่มน้ำก่อนนอน และควรหลับให้สนิท
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจส่ายหน้าว่าการดูแลสุขภาพตามแบบแพทย์แผนจีนนั้นยุ่งยากไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะการที่ต้องคอยยับยั้งชั่งใจไม่ให้กินอาหารที่ชอบ ไม่ดื่มน้ำเย็น ต้องปรับเวลานอนให้เหมาะสมไม่สามารถนอนตามเวลาที่ตัวเองสะดวกได้อย่างแต่ก่อนต้องแบ่งเวลาสำหรับออกกำลังกาย ฯลฯ แต่ถ้าพิจารณาดีๆ แล้วจะเห็นว่าชีวิตในยุคปัจจุบันของเรานั้นเต็มไปด้วยความเร่งรีบ วุ่นวาย และปัจจัยเสี่ยงที่ลายสุขภาพของเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานที่อาจจะต้องทำงานล่วงเวลาจนไม่ได้กินอาหารหรือพักผ่อนตามเวลาที่เหมาะสม หรือการที่อาหารในท้องตลาดจำนวนมากถูกผลิตขึ้นมาให้มีรสชาติอร่อยมากกว่าที่จะมีประโยชน์ต่อร่างกาบ รวมถึงความเคร่งเครียดจากการเดินทางและการทำงาน ที่ส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่ายมากขึ้นเมื่อสะสมมากเข้าเป็นเวลานาน ก็ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงที่ต้องเร่งปรึกษาแพทย์ตามมาได้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อร่างกาย แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน และต้องฝืนใจตัวเองในการหักห้ามใจ ลด ละ เลิกพฤติกรรมเดิมๆ ที่ทำลายสุขภาพ
แต่การ "ป้องกัน" ย่อมดีกว่าการรอให้หายป่วย และค่อยเริ่มแก้ไขอย่างแน่นอน หากเราสามารถเอาชนะใจตัวเองก้าวข้ามผ่านความเคยชินที่ติดเป็นนิสัยของเราได้ เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใหม่และดีขึ้นกว่าเดิม ทำอย่างสม่ำเสมอจนติดเป็นนิสัย และกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน นี่ก็คือบันไดขั้นแรกสู่การมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ยอดเยี่ยม ยั่งยืนในที่สุด