สิ่งที่ทำให้"ยาจีน"รักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่สูตรยาจีนที่ถ่ายทอดกันมา แต่ต้องมาจากวัตถุดิบที่ดีด้วย ดังนั้น เคล็ดลับของยาจีน ย่อมหนีไม่พ้นสมุนไพร ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หายากและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเสาะหาและการนำมาปรุงใช้ เรามาดูกันว่า "ยาจีน"ดีจริงหรือไม่
หมออากงเล่าให้ฟังว่า ในการเสาะหาวัตถุดิบมาทำยานั้นถือเป็นกระบวนการที่ต้องพิถีพิถันเป็นอย่างมาก หากวัตถุดิบไม่ดีก็จะทำให้ตัวยาไม่มีผล ดังนั้น หากไม่ผ่านคุณภาพก็จะไม่ได้เลือกนำมาผลิตยาโดยหลักการเลือกสมุนไพรมาทำยาคือ การดูแหล่งกำเนิด ซึ่งจะสามารถบอกคุณภาพได้ จากนั้นต้องนำมาเข้ากระบวนการให้ถูกต้อง
เช่น เน็กฉ่งยังจะต้องเอามาแช่น้ำก่อน 7 วัน จากนั้นค่อยนำมาต้มกับถั่วดำ การแช่น้ำก็เพื่อทำให้พิษมันซึมออกไป และใช้ถั่วดำช่วยขับพิษพร้อมกับเสริมการบำรุง ในการต้มถั่วดำก็จะต้องใช้น้ำตาลทรายแดง (ห้ามใช้น้ำตาลทรายขาวเพราะผ่านการฟอกด้วยกำมะถัน จนไม่บริสุทธิ์)
ยาบางอย่างนั้นจะต้องใช้กำมะถันเหลืองเข้ามาผสม เพราะเมื่อมีเชื้อโรค ก็จะต้องฆ่าเชื้อโรคซึ่งกำมะถันนั้นมีสรรพคุณฆ่าเชื้อในร่างกายของเราได้ เหล่านี้คือประสบการณ์ที่อากงได้ลองทำและเรียนรู้อย่างยาวนาน จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เรียกได้ว่า ยาจีนนั้นมีหลายพันตัว แต่เราอาจเก็บเพียงไม่กี่ตัวมาใช้ทำยา ยางบางอย่างผสมจากวัตถุดิบ 10 กว่าตัว ขณะยาบางอย่างใช้วัตถุดิบ 40 กว่าตัวมาเสริมฤทธิ์กัน หยุดเข้าใจสมุนไพรกันแบบผิดๆ
ร้านยาของหมออากงที่เยาวราชนั้นมีชื่อเสียงเรื่องวัตถุดิบปรุงยาเป็นพิเศษแต่ก่อนนั้นสั่งวัตถุดิบมาจากเมืองจีน โดยต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานที่จัดหาด้วย สมุนไพรบางตัวนั้นต้องมาจากยูนนาน บางตัวต้องมาจากเสฉวน หรือที่โดดเด่นมากกคือการสั่งรากไม้นั้นสั่งจะสั่งจากเมืองจีนทางจดหมาย ให้ทางนั้นหามาให้และส่งมาทางเรือ โดยใช้ตัวแทนในการรับส่งเงิน
ในการจัดการกับรากไม้ คือส่วนสำคัญ ถ้ารากไม้ไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้อีโต้ในการเฉาะ กระบวนการคือการเฉาะไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีเครื่องมือที่ดีกว่านั้นแล้วก็ตาม สมัยก่อนกว่าจะได้รากไม้มานั้น ทางร้านยาจะค่อยๆเฉาะลงไปดูว่าทางไม้เป็นอย่างไร สับไปก็พลิกลายไม้ให้ถูกต้องเพื่อที่จะสับได้สวย ถ้าเห็นว่ามันขวางก็จะสับไม่เข้า บางครั้งต้องแฉลบเอา การดูเนื้อไม้ว่าใช่หรือไม่ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้วัตถุดิบที่ดีคนสมัยก่อนดูรากไม้เก่ง ลายไม้จะอยู่ข้างใน คนที่ชำนาญจะจำได้ว่าลายนี้เนื้อนี้เป็นของตัวไหน
ส่วนสมุนไพรในเมืองไทย ก็มีวิธีการนำมาใช้โดยยึดจากชาวบ้าน เมื่อก่อนนั้นจะเลือกจากสวยแถวสาธุประดิษฐ์ ถัดมาก็คือตลาดพลู โดยชาวบ้านจะปลูกในสวนแล้วเก็บมาขายที่ตลาด ถ้าได้ไม่ครบก็ต้องเดินทางไปเอาจากแหล่งอื่นมาเสริม โดยจะบอกพ่อค้าแม่ค้าว่าจะเอาแบบไหน ทางนั้นก็จะเอามาขายเป็นกระจาดเช่น แปะตังปึง สิ่งที่น่านใจคือ เมืองไทยกับซัวเถานั้นมีอากาศคล้ายกันต้นไม้จึงเหมือนกันไปด้วย
จากการสะสมความรู้ของอากงนั้น ได้ข้อสรุปว่า ตำรับยาพื้นฐานของจีนจะเกี่ยวกับการหมุนเวียนโลหิต เพราะหากกำลังหัวใจดี จะทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ดี อากงได้รวบรวมสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยในเรื่องการหมุนเวียนเลือด จึงได้ออกมาเป็น ยาที่ช่วยเรื่องระบบหมุนเวียนโลหิต พื้นฐานของการใช้ยาโบราณก็คือทำให้เลือดไหลไปตามอวัยวะต่างๆ ได้คล่อง จากนั้นดูว่า โรคเป็นอย่างไร หากพบว่ามีอาการตรงไหนเช่น ตับ หรือ ปอด ก็จะค่อยๆเพิ่มยาไปเสริมกำลังของตับปอดได้อย่างถูกส่วน
โรคที่ได้ยินกันบ่อยในยุคหลังคือ ไขมันเกาะตับ สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการแพทย์จีนว่า เกิดจากเลือดข้นเกินไป ทำให้เข้าไปในตับแล้วไม่ยอมออกมา พอค้างอยู่นานก็จะมีไขมันเกาะในตับ การจัดตำรับยารักษาโรคนี้ก็จะต้องเข้าไปจัดการกับภาวะเลือดข้นในการหมุนเวียนโลหิต
จากประสบการณ์รักษาแผนจีนและการใช้ยา หมออากงพบว่าโรคทุกอย่างเหมาะกับยาจีนมากกว่า เพราะยาจีนคือยาสมุนไพรที่สอดคล้องกับร่างกายตามธรรมชาติ วัตถุดิบนั้นจะช่วยทำให้ร่างกายปรับปรุงตัวเองต้านทานโรคแตกต่างจากยาที่สกัดจากสารเคมีที่มีความเจาะจงเกินไป จนกระทั่งฝืนธรรมชาติดั่งเดิมของมนุษย์
สมุนไพรคือวัตถุดิบสำหรับนำไปปรุงเป็นยา ทั้งยารักษาและยาบำรุง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยิบสมุนไพรอะไรจากไหนมาปรุงก็ได้ เพราะการได้มาซึ่งสมุนไพร การคัดเลือดอย่างพิถีพิถันนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด อันรวมไปถึงนวัตกรรมการจัดการสมุนไพรเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างดีที่สุด
ในสมัยอดีต วัตถุดิบจะนำเข้ามาจากเมืองจีนเป็นหลักตัวสมุนไพรนั้นแต่ละชนิดมีราคาแตกต่างกัน ผู้ปรุงยาจะต้องเลือกใช้ตามความเหมาะสม วัตถุดิบบางตัวนั้นราคาแพง ทำให้ต้องเลือกเอาวัตถุดิบตัวหนึ่งที่ราคาถูกกว่า สรรพคุณอ่อนลงกว่ามาสักหน่อยเข้าไปเสริม แต่จะต้องรักษาคุณภาพของยาให้ได้
หมอจีนที่มาเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหมอจากทางภาคใต้ของจีน เพราะตอนที่อพยพมานั้น จะเลือกลงมาทางใต้ของประเทศ(คนภูมิภาคอื่นจะอพยพไปทางทิศอื่นง่ายกว่า) จนเจอดินแดนที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและทำมาค้าขาย นั่นคือ ประเทศไทย ดังนั้น หมอจีนในไทยก็คือหมอจีนที่มาจากทางใต้ของจีนนั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การปรุงยาและใช้ยากับคนในไทย จะมีความใกล้เคียงกับในจีนพอสมควร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่แตกต่างกันจนเกินไป